วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

งานแฮนด์เมด ทำไมขายยากจัง

เพื่อน ๆ เคยเป็นไหมคะ ทำงานฝีมือขาย ทุกคนที่เห็นชมว่าสวย น่ารัก น่าจะขายได้ พอเราทำขายจริง ๆ คนส่วนใหญ่เขาก็มาจับ ๆ ดู แล้วก็ผ่านไป เราจะทำยังไงดี เรียกลูกค้ายังไง ทำยังไงให้งานอดิเรกที่เราชอบทำเงินขึ้นมาได้ ขอความเห็นหน่อยคะ


เคยค่ะ เห็นเราเย็บอยู่ก็บอกว่าสวย ทำขายไหม เราบอกขาย บอกราคาไป เค้าเงียบ แล้วก็จับๆดูอีก แล้วก็เดินไปเลย สงสัยคิดว่ามันแพงแน่ๆเลยอ่ะ เราก็คิดราคาแบบว่าค่าแรงแทบไม่ได้เลยนะ แต่ก้มีบางคนที่ให้ความสำคัญกับงานฝีมือ เค้าบอกว่าเราขายถูกจัง คุ้มเหรอ ก็เลยได้แต่ภาวนาให้มีคนเห็นคุณค่างานฝีมือเยอะๆ อะ


เราเห็นเพื่อนที่ทำงานนี่แหละ รับกระเป๋าก็อป kate kidson เอามาขายใบนึงหลายร้อย กำไรใบนึงก็เยอะ บางใบเราว่าเขากำไรเป็น 100 เลยไม่ต้องทำให้เหนื่อย เห็นที่ทำงานซื้อกันจัง แต่พอเวลาเราของอะไรมา เข้ามาชมว่าเก่ง ทำให้มั่งสิ ไม่เคยถามเราว่าทำขายไหมเลยสักคำ พอเราลองใจ แกล้งบอกว่าทำขาย เงียบเลย เรารึนั่งเย็บจนมือพรุนแทบตาย เค้าคงคิดว่าแค่ผ้าชิ้นเล็ก ๆ แพงไปมั๊ง เราก็ไม่สนใจเลยค่ะคนแบบนี้ สู้ทำแจกให้คนที่จริงใจ และมีน้ำใจกับเรายังจะสบายใจกว่า


คือจริงๆ แล้ว ..​คนไทยหลายๆ คน ไม่เห็นค่าของ "เวลา + แรงกาย + แรงใจ" ของคนที่ทำ และงาน Handmde เพียงแค่เห็นว่า มันเป็นตุ๊กตา ก็ตีราคาในใจแบบต่ำ ๆ ไปก่อน ทำให้ คนทำก็เสียกำลังใจ ราคาตลาดที่ควรจะเป็นก็ต้องต่ำลงไปด้วย อย่างเราเอง .. เราก็คิดราคาแบบที่เราคิดว่าฝีมือเรามีค่าเท่านี้ สมองที่เราคิดให้ออกมาเป็นชิ้นงาน เราก็ตีค่าเป็นราคา บวกกับจำนวนชัวโมงทีใช้ในการทำงาน handmade ราคารวมออกมาแล้ว อาจจะดูเหมือนว่าแพงไปสำหรับของ handmade แบบนี้ (หมายถึงพวก กระเป๋า / ตุ๊กตาถัก) แต่เราก็ยอมกัดฟันว่า ขายไม่ออกไม่เป็นไร ดีกว่าไปตั้งราคาต่ำเท่ากับตลาดนัดที่มาขาย เพราะในอนาคต ถ้าคนเริ่มติดกับงานเราขึ้นมา เราจะไม่สามารถขึ้นราคาได้อีกเลย เราเป็นคนเห็นค่าของงาน Handmade อะค่ะ เลยพูดแบบนี้ แต่ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน :D


เหมือนเข้ามาบ่นในกระทู้เลยนะเนี่ย อิอิ ดีแล้วค่ะอย่าไปตั้งราคาเท่าตลาดนัดเลย บางครั้งเราไปเดินสำเพ็ง เห็นของที่เขาขายราคาไม่แพง มีให้เลือกเยอะแยะ ก็เข้าใจในระดับนึงว่า คนที่ไม่เห็นค่าของงาน handmade ก็คิดว่าหาซื้อเอาตามตลาดดีกว่า มีขายเยอะแยะ หลากหลายแบบน่ารัก ๆ มีให้เลือกเยอะ แถมราคาก็ไม่แพง เขาเลยไม่สนใจของ hand made แต่ถ้าได้ฟรีละก้อ รับหมด 555 เพื่อนคนนึงมาบ่นกับเราว่าจะซื้อซองใส่มือถือเป็นกระเป๋าผ้าใบเล็ก ๆ เอาเศษผ้ามาเย็บทำขายตั้ง 100 กว่าบาท แพงเสียดายเงิน แล้วพูดกับเราว่า ถ้าเราเย็บของเรา ทำเผื่อมันด้วยอันนึงนะ เราก็เออออไปตามเรื่อง แต่จนป่านนี้ก็ไม่เคยทำให้มันเลย ฝันไปเหอะ หลายครั้งที่เราพบว่า มิตรภาพบนโลกไซเบอร์สวยงามกว่ามิตรภาพที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันซะอีก


ติดต่อทีมงาน ความคิดเห็นที่ 14 เห็นด้วยกับคุณ hoothoot นะคะ เราเองก็อยากทำขาย แต่ก็เข้าใจว่าหาตลาดยาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นค่างานฝีมือสักเท่าไหร่ คนที่เห็นค่างานฝีมือส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มคนที่ชอบทำงานฝีมือเช่นกัน ส่วนตัวเราก็มองว่ามันงานศิลปะ มีชิ้นเดียวในโลกเหมือนกัน ต่อให้ทำใหม่ ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม เคยมีอยู่ครั้งนึงเราทำผ้าพันคอ fingerknit ด้วยไหมปอมๆ พี่คนนึงเค้าชอบเลยบอกว่าทำให้เค้ามั่งสิ เค้าจ้างทำเลย แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดจะทำขายหรอก อารมณ์ชอบทำแจก(คนที่อยากแจก)มากกว่า เราก็บอกว่าเอาไหมมาเดี๋ยวทำให้ พี่เค้าควักตังค์ให้พันนึงเลย บอกว่าไปซื้อไหมมาให้ด้วย ไม่พอก็มาบอก โห.. เรางี้ซึ้งมากๆ นานๆจะเจอคนแบบนี้สักที สุดท้ายก็คิดแค่ค่าไหม ไม่ได้คิดค่าแรงเลย


งานฝีมือกับคนไทยส่วนใหญ่กลายเป็นของไกลตัวกันไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ค่ะ อาจจะด้วยสภาวะเศรษฐกิจ การเงินไม่คล่องพอ สมัยก่อนใครทำอะไรฝีมือดีๆเนี๊ยบๆ แพงเท่าไหร่คนก็ซื้อค่ะ สมัยรี้มันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จะบอกว่ารสนิยมคนตกต่ำลงมาเพราะสภาวะเศรษฐกิจก็มีส่วนเยอะนะคะ ถ้าตั้งใจทำขายจริงๆจังๆ มันอยู่ที่ความตั้งใจ+ทุน(หมุนเวียนที่ค่อนข้างยาวมากๆ) การทำประชาสัมพันธ์ก็มีส่วน งานฝีมือขายได้เฉพาะกลุ่มนี่เรื่องจริงค่ะ คนที่มาดูของส่วนใหญ่จะมองว่า สวย แต่ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราตีแตกโจทย์นี้ได้ งานฝีมือที่ทั้งสวยและมีประโยชน์ใช้งานสูง ก็จะไม่ถูกตีค่าด้วยราคาเพราะคนซื้อมีความพึงพอใจในการใช้งานเป็นสำคัญอยู่ การออกแบบสินค้างานฝีมือ หรือ handmade นั้นต้องอาศัย design+function ถึงจะอยู่ได้ค่ะ ที่สำคัญถ้าตอบโจทย์ถูกตลาด ถูกกลุ่มเป้าหมาย ก็นับว่าเป็นงานที่ไปได้ไกลทีเดียวค่ะ สู้ๆนะคะ

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

แฮนด์เมดเพิ่มค้า ใบตองตึง

ผลิตภัณฑ์สินค้าแฮนด์เมด "ใบตองตึง" เพิ่มค่า กับผลงานสร้างสรรค์ของ นายปรเมศร์ สายอุปราช ที่นำใบตองตึงมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในชิ้นงานที่จำหน่ายถือเป็นงานแฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งเจ้าตัวยังยืนยันในเมืองไทยของเขาเป็น “Only One Product” โดยใช้บ้านใน จ.ลำปางเป็นแหล่งผลิตสินค้าแฮนด์เมดนี้ นายปรเมศร์เล่าว่า ก่อนจะมาทำงานนี้ เคยลองนำสินค้าของชาวบ้านมาขายในเว็บไซต์เพื่อดูว่าสินค้าตัวไหนที่ได้รับความสนใจ ปรากฎว่าลูกค้าคนไทยที่เข้ามาดูส่วนใหญ่สนใจงานฝีมือ เลยต้องหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งใช้วิธีดูวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดคือใบไม้ ประกอบกับ“ใบตองตึง” เป็นใบไม้ที่คนทางเหนือใช้ห่อข้าวเหนียว ใช้มุงหลังคา จึงนำมาทำเป็นงานใบไม้ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “มิสเตอร์ลีฟ”

เจ้าของชิ้นงานได้เล่าที่มาให้ฟังว่า เริ่มทำมาตั้งปี 2547 ตอนแรกเรียนจากอาจารย์ญี่ปุ่นเป็นงานเกี่ยวกับเส้นใยพืชธรรมชาติ จากนั้นนำมาต่อยอดเอง โดยใช้ใบไม้ล้วน ๆ พร้อมกับปรับใช้กับเซรามิค พลาสติก กระดาษหรือไม้ก็ได้ตัวอย่าง(ที่เห็นภาพ)กล่องไม้นี้เป็นไม้ที่ทำจาก MDF หลังจากนั้นเราก็นำใบไม้มาอัดลงบนฝากล่องอีกครั้งหนึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าจะต้องการกล่องสีอะไร ต้องการใบไม้ที่อยู่บนฝากล่องสีอะไร บางครั้งต้องสกรีนเป็นกิ่งไม้ ซึ่งลูกค้าต่างประเทศสั่งมา เพราะลูกค้าที่ทำสปาต้องการสินค้าที่ดูเป็นธรรมชาติ” การนำใบตองตึงมาใช้ประโยชน์แบบนี้ได้ ต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง ในช่วงแรกที่ทำก็เจอปัญหาต่างๆ อาทิ ใบไม้กรอบไปบ้างแห้งไปบ้าง ใช้ไม่ได้ สำหรับการเก็บใบตองตึงจะใช้วิธีสต๊อกเก็บไว้เพราะใบตองตึงเป็นไม้ผลัดใบ จะออกช่วงเดือนห้าถึงเดือนแปด ฟอร์มใบจะแข็งแรงและสมบูรณ์มาก โดยจะซื้อใบสีเขียวแล้นำมาตากแห้ง ก่อนผ่านกระบวนการต่างๆ ที่สำคัญใบไม้เหล่านั้นต้องอบน้ำยากันแมลงด้วยทำไมต้องใช้ใบตองตึง …


 “ความจริงจะใช้ใบไม้อย่างอื่นก็ได้แต่ที่ใช้ใบตองตึงเพราะมีเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของวิถีชีวิตของคนทางเหนือที่มีความผูกพันกับใบไม้ชนิดนี้ โดยเอามาห่อข้าวเหนียว หรือที่เรียกว่าเห็นเรื่องราวของใบไม้ หรืออย่างเราไปเมืองนอกเห็นใบเมเปิลเราก็อยากเอามาฝากเพื่อนฝูงทางเมืองไทย”สำหรับสินค้าแฮนด์เมด ใช้วัสดุธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ“มิสเตอร์ลีฟ” มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สินค้ามีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นโคมไฟใบไม้ เป็นนาฬิกาใบไม้ หรือwall leaf สำหรับตกแต่งผนังบ้าน ราคาสูงสุดอยู่ที่ 4,500 บาท ต่ำสุด 650 บาท พวกสารพัดกล่องก็ขายดีเช่นกันเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยราคากล่องต่ำสุดอยู่ที่ 120 บาท สูงสุด 350 บาท โดยปรเมศร์จะมีคนเขียนรูปให้ตามออเดอร์สนใจผลงานใบตองตึงยี่ห้อ“มิสเตอร์ลีฟ” ติดต่อคุณปรเมศร์ได้ที่ 086-1823589, 086-6704349 หรือดูที่ www.leavespaper.com ต้นตองตึง เป็นไม้ป่ายืนต้นใบลักษณะคล้ายต้นสักหรือต้นชาดในภาคอีสาน แต่ใบตองตึงไม่มีขน ใบที่ยังไม่แก่ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน นิยมเก็บมาห่อของเช่น ห่อข้าวห่อ ห่อของจิปาถะคล้าย ๆ ใบตอง หรือใบบัวในภาคกลาง ใบตองตึงเมื่อแก่และหล่นจากต้นนำมาทำเป็นตับมุงหลังคากระท่อมคล้ายจากหรือแฝก มีความทนทานได้ 4-5 ปี คุณสมบัติกระท่อมที่มุงด้วยใบตองตึง อยู่สบายไม่ร้อน ที่บ้านรักไทยชาวไทยเชื้อสายจีนยูนาน ทำบ้านด้วยดินเหนียวมุงหลังคาด้วยใบตองตึงอยู่สบายกลมกลืนกับธรรมชาติเมื่อผุพังก็ย่อยสลายไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ใบตองตึงที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ จะเก็บกันในช่วงหน้าหนาวตอนเช้า ๆ เพราะยังไม่กรอบ จากนั้นนำมาตัดก้านใบแช่น้ำแล้วเรียงทับเก็บไว้ นำไม้ไผ่จักเป็นตอกหนาประมาณ 3-4 มม. ยาวประมาณ 2-3 ม. ใช้เป็นก้าน จัดตอกเป็นแผ่น หนาประมาณ 1.5-2 มม. ยาว 35 ซม. เพื่อใช้ในการเย็บเข้ากับก้านที่เตรียมไว้เรียกว่า “ตับพลวง” จากนั้นนำมามุงหลังคาและกั้นเป็นฝาบ้านเพื่ออยู่อาศัย.