วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'FABBIZ' งานแฮนด์เมดผ้าญี่ปุ่น...เห็นแล้วยากจะห้ามใจ

Pic_263708
มีคนเคยบอกว่า เดี๋ยวนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป...คนเราต้องการบริโภคสินค้าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่ออารมณ์ และสไตล์ของตนเองมากกว่าสนองความจำเป็นพื้นฐานอย่างปัจจัยสี่ จึงเป็นที่มาของงานที่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ด้านดีไซน์เข้ามาตอบโจทย์ 'FABBIZ' งานกิ๊บเก๋ จากผ้าญี่ปุ่น คือแบรนด์หนึ่งซึ่งเข้าใจความต้องการข้อนี้ดี จึงอาศัยช่องว่างดังกล่าวจับตลาดคนคอเดียวกันแบบอยู่หมัด
ต่อยอดจากงาน วอล อาร์ต

คุณปิยะนาถ อาภรณ์ (บิ๋ม) หนึ่งในหุ้นส่วน แบรนด์  'FABBIZ'  เล่าว่า เรื่องของเรื่องเกิดจากวันหนึ่งมีคนมาชักชวนเธอให้ไปทำเวิร์กช้อปในงานโปรโมตหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นทำไปทำมา คุณบิ๋ม ก็รู้สึกว่าเจ้าตุ๊กตาที่ออกแบบมาเพื่อทำเวิร์กช้อปสำหรับใช้แต่งบ้าน ตอนนั้นหน้าตาประมาณว่าเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ อยู่ในกระถางต้นไม้  ซึ่งพอทำออกมาแล้ว เธอรู้สึกว่า "เฮ้ย! มันน่ารักนะ" หลังจากนั้นเธอจึงเกิดแนวคิดอยากทำขาย โดยหุ้นกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง (คุณหทัยรัตน์ เพ่งพิศ (ฟู่)) เสร็จแล้วเอาไปเทสต์ตลาดตามงานอาร์เต้ ที่ซอยทองหล่อ 10 ขณะเดียวกันผลลัพธ์ก็เป็นดั่งที่คาด คืองานดังกล่าวนี้สามารถขายได้จริง!
2 คนไม่รุ่งเท่า 3 คน

"ตอนแรกทำ 2 คนกับเพื่อน  คือ ตัวเราเองกับ คุณหทัยรัตน์ พอทำไปได้ระยะหนึ่งเริ่มรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ เลยตัดสินใจชวนเพื่อนอีกคนหนึ่ง คือคุณสมจินตนา นิ่มสุวรรณ (เอก) เข้ามาร่วมด้วย เพราะเพื่อนคนนี้เก่งมาก ทั้งการออกแบบหน้าตาสินค้า รวมทั้งมุมมองในการเลือกลายผ้าแต่ละแบบมาผสมผสานกัน สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า เรา 3 คน คือหุ้นส่วนของ FABBIZ ค่ะ "
หลังจาก FABBIZ เปิดตัวขึ้นที่ ซอยทองหล่อ 10 ได้ไม่นานก็ปรากฏว่ามีคนมาชวนให้  FABBIZ ลองไปขายที่ตลาดซิคาด้า (ตลาดจักจั่น หัวหิน) FABBIZ  ได้ไปเปิดหน้าร้านขายที่นั่นตามคำชวนอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ได้ขายแล้ว แต่เน้นที่จะออกงานอีเวนต์ และขายความน่ารักผ่านทางหน้าร้านออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊กมากกว่า
เทคนิคดีไซน์แค่ มองให้สวยก็....จบ

ตุ๊กตา/พวงกุญแจ ของ FABBIZ ทุกชิ้นจะเป็นงานแฮนด์เมด โดยที่บริเวณลำตัวของตุ๊กตาจะใช้จักเย็บ แต่พวกแอคเซสซอรี่ตกแต่งอะไรต่างๆ เหล่านี้จะเย็บด้วยมือทั้งหมด ส่วนวิธีเลือกสี/เลือกลายผ้าว่าลำตัวสีนี้ ควรใช้ปีกสีอะไรนั้น ไม่มีหลักการ ทฤษฎีสีอะไรให้ยุ่งยาก คุณบิ๋ม บอกสั้นๆ ว่า เพียงแค่นำสองส่วนมาเทียบกันหากมองว่าสวย ทุกอย่างก็จบ
เหตุผลที่ นก/ไก่ เยอะ

ทำไมนก/ไก่มีเยอะจัง? คำถามนี้คงเกิดขึ้นในใจหลายๆ คน เมื่อได้มาเยือนแผงหน้าร้านของ FABBIZ คำตอบคุณบิ๋ม เธอบอกว่า

"ตอนแรกที่เราทำงานออกแบบวอลอาร์ต ปรากฏว่าในภาพ ก็มักจะมีนกบินอะไรเหล่านี้ประกอบอยู่ในภาพด้วยเสมอ จนเราเกิดไอเดียว่า เออ! ลองเอานกในภาพมาทำเป็นนกตุ๊กตาดีไหม แล้วก็ผันจากงานวอลอาร์ตมาเป็นตุ๊กตานก ในลำดับต่อมา และตอนแรกหน้าตาของนกที่ทำก็ยังเป็นนกเกลี้ยงๆ ไร้แอคเซสซอรี่ใดๆ ทว่าพอทำแพตเทิร์นไป ลองใส่มงกุฎดู ...มันก็เฮ้ย! น่ารักดี สวยดี ต่อมาก็เริ่มมีเจ้าไก่เพิ่มเข้ามา เพราะว่า นกกับไก่มีคาแรกเตอร์คล้ายๆ กัน จากนั้นรูปแบบของสินค้าภายในร้าน  FABBIZ มันก็เริ่มบิดมาเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ และความสนใจของพวกเราเอง"
น่ารัก แล้วยังมีความหมาย

"จริงๆ ตุ๊กตาสัตว์เหล่านี้ เช่น นกฮูก ไก่ กระต่าย ล้วนมีความหมาย  เพราะ ไม่ว่าจะเป็น นก ไก่ หรือกระต่าย มันสามารถตีความได้ เช่น เป็นชื่อคน ชื่อปีเกิดอย่าง ระกา (ไก่) เถาะ (กระต่าย) ส่งผลให้สิ่งเหล่านี้นอกจากจะนิยมนำมาแต่งบ้าน/เป็นของสะสมส่วนตัวแล้ว หลายคนยังนิยมนำไปเป็นของขวัญ/ของที่ระลึกสุดประทับใจได้อีกด้วย"
เป้าหมายขายคนชอบแต่งบ้าน

"กลุ่มเป้าหมายของ  FABBIZ ช่วงแรกจะเป็นกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก แต่พอเรามีนกฮูกเข้ามา ทำให้เราเริ่มขยายกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ชายได้อีก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในภาพรวมกลุ่มเป้าหมายเราจะเป็นกลุ่มคนอายุประมาณ 20 ปีขึ้นไปจนถึง 45 ปี เป็นกลุ่มที่มีรสนิยมชื่นชอบงานสไตล์นี้ ชอบแต่งบ้าน นอกจากนี้ลูกค้าของ FABBIZ มักจะเป็นกลุ่มที่มาแล้วมาอีก ดังนั้น พฤติกรรมการซื้อจึงจะเป็นการซื้อแบบสะสมมากกว่า เช่น ถ้าเขามีไก่แล้ว เขาก็จะมาซื้อนกฮูก อะไรประมาณนี้ พวกนี้มันยังเป็นอะไรที่ขายได้ตลอด"

สำหรับวิธีตั้งราคาขาย จะเริ่มต้นตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป อย่างเช่น กิ๊บแทค (5 ชิ้น) ราคา 60 บาท, ที่คั่นหนังสือ 45 บาท, ดินสอ (3 แท่ง) 100 บาท, ตุ๊กตาพวงกุญแจนก 245 บาท, นกฮูก-กระต่าย-ไก่ (แบบตั้งโชว์) 290 /320 /370 บาท ขึ้นอยู่กับความยาก และรายละเอียดของงานเป็นหลัก
คุณภาพห้ามต่ำกว่า เกรดเอ

FABBIZ กล้าพูดได้เลยว่างานเราต้องเป็นงานเกรด เอ เท่านั้น การเย็บต้องเรียบร้อย สังเกตได้เลยว่างานทุกชิ้นจะไม่มีรอยด้ายเดินเส้นให้เห็นแม้นิดเดียว กระทั่งการตกแต่งอย่างการติดกระดุมต้องตรงเป๊ะ
“เราจะไม่มีการเอางานมีตำหนิมาขายลดราคา แต่ถ้าพบว่าสินค้ามีตำหนิเราจะโละใส่ถุงเก็บไว้ในโกดัง หรือแก้ไขให้มันเป็นเกรดเอแล้วนั่นแหละ เราจึงนำมาขาย ที่สำคัญในขั้นตอนกระบวนการผลิต เราจะดูความเรียบร้อยเองทุกชิ้น พร้อมกันนี้ความพิถีพิถันในการคัดสรรผ้าต้องเป็นคอตตอนญี่ปุ่น เพราะข้อดีของผ้าชนิดนี้คือ คุณภาพ เนื่องจากไส้ในเราจะยัดด้วยใยสังเคราะห์ไว้แบบแน่นมากๆ  แล้วการยัดแน่นขนาดนี้ถ้าคุณภาพผ้าไม่แข็งแรงพอจะเย็บไม่อยู่ หนำซ้ำบริเวณที่เย็บก็จะเป็นรอยเย็บเห็นรอยแยกชัดเจนดูไม่สวย"
หลากหลายไม่ซ้ำแบบ!

"จุดเด่นของ FABBIZ คือความประณีต และความแตกต่างของงานแต่ละชิ้น ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตุ๊กตา/สินค้าในร้านเราจะไม่มีซ้ำกันเลยสักแบบเดียว ถึงแม้ว่าการทำแบบนี้อาจจะเสียเวลาในการทำบ้าง แต่สิ่งที่ได้คือความหลากหลายของลูกค้า เมื่อเขาซื้อไปแล้วเขามีความสุข การที่เราได้ถืออะไรแล้วแบบ เฮ้ย น่ารักอ่ะ มันมีความเป็นเอกลักษณ์ แล้วรู้สึกว่าตัวนี้มันเป็นของเราคนเดียว ไม่มีใครเหมือนเรา แล้วทุกคนพอได้ไปแล้วมักหลงรัก เหมือนอย่างลูกค้าที่ร้าน เคยมีโปรโมชั่นว่าลูกค้าคนไหนเคยซื้อไปแล้ว หากว่าตุ๊กตาเก่ามากๆ เราจะให้เขาเอาตัวเก่ามาแลก พร้อมกับเลือกหยิบตัวใหม่ไปได้เลย ปรากฏว่า ลูกค้าไม่มีใครยอมแลก เขาบอก "รักแล้วอ่ะ และตัวนี้คือของฉันอ่ะ" หลายคนเป็นแบบนี้นะ ใช้แล้วรัก ให้เขาซื้อตัวใหม่ดีกว่า แต่ยังไงก็ไม่แลก”
อยากลองต้องมนต์เสน่ห์งานแฮนเมดสไตล์ FABBIZ  ลองคลิกเข้าไปดูกันก่อนที่ www.fab-biz.com โทร. 02-5894719.

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

งานแฮนด์เมด ทำไมขายยากจัง

เพื่อน ๆ เคยเป็นไหมคะ ทำงานฝีมือขาย ทุกคนที่เห็นชมว่าสวย น่ารัก น่าจะขายได้ พอเราทำขายจริง ๆ คนส่วนใหญ่เขาก็มาจับ ๆ ดู แล้วก็ผ่านไป เราจะทำยังไงดี เรียกลูกค้ายังไง ทำยังไงให้งานอดิเรกที่เราชอบทำเงินขึ้นมาได้ ขอความเห็นหน่อยคะ


เคยค่ะ เห็นเราเย็บอยู่ก็บอกว่าสวย ทำขายไหม เราบอกขาย บอกราคาไป เค้าเงียบ แล้วก็จับๆดูอีก แล้วก็เดินไปเลย สงสัยคิดว่ามันแพงแน่ๆเลยอ่ะ เราก็คิดราคาแบบว่าค่าแรงแทบไม่ได้เลยนะ แต่ก้มีบางคนที่ให้ความสำคัญกับงานฝีมือ เค้าบอกว่าเราขายถูกจัง คุ้มเหรอ ก็เลยได้แต่ภาวนาให้มีคนเห็นคุณค่างานฝีมือเยอะๆ อะ


เราเห็นเพื่อนที่ทำงานนี่แหละ รับกระเป๋าก็อป kate kidson เอามาขายใบนึงหลายร้อย กำไรใบนึงก็เยอะ บางใบเราว่าเขากำไรเป็น 100 เลยไม่ต้องทำให้เหนื่อย เห็นที่ทำงานซื้อกันจัง แต่พอเวลาเราของอะไรมา เข้ามาชมว่าเก่ง ทำให้มั่งสิ ไม่เคยถามเราว่าทำขายไหมเลยสักคำ พอเราลองใจ แกล้งบอกว่าทำขาย เงียบเลย เรารึนั่งเย็บจนมือพรุนแทบตาย เค้าคงคิดว่าแค่ผ้าชิ้นเล็ก ๆ แพงไปมั๊ง เราก็ไม่สนใจเลยค่ะคนแบบนี้ สู้ทำแจกให้คนที่จริงใจ และมีน้ำใจกับเรายังจะสบายใจกว่า


คือจริงๆ แล้ว ..​คนไทยหลายๆ คน ไม่เห็นค่าของ "เวลา + แรงกาย + แรงใจ" ของคนที่ทำ และงาน Handmde เพียงแค่เห็นว่า มันเป็นตุ๊กตา ก็ตีราคาในใจแบบต่ำ ๆ ไปก่อน ทำให้ คนทำก็เสียกำลังใจ ราคาตลาดที่ควรจะเป็นก็ต้องต่ำลงไปด้วย อย่างเราเอง .. เราก็คิดราคาแบบที่เราคิดว่าฝีมือเรามีค่าเท่านี้ สมองที่เราคิดให้ออกมาเป็นชิ้นงาน เราก็ตีค่าเป็นราคา บวกกับจำนวนชัวโมงทีใช้ในการทำงาน handmade ราคารวมออกมาแล้ว อาจจะดูเหมือนว่าแพงไปสำหรับของ handmade แบบนี้ (หมายถึงพวก กระเป๋า / ตุ๊กตาถัก) แต่เราก็ยอมกัดฟันว่า ขายไม่ออกไม่เป็นไร ดีกว่าไปตั้งราคาต่ำเท่ากับตลาดนัดที่มาขาย เพราะในอนาคต ถ้าคนเริ่มติดกับงานเราขึ้นมา เราจะไม่สามารถขึ้นราคาได้อีกเลย เราเป็นคนเห็นค่าของงาน Handmade อะค่ะ เลยพูดแบบนี้ แต่ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน :D


เหมือนเข้ามาบ่นในกระทู้เลยนะเนี่ย อิอิ ดีแล้วค่ะอย่าไปตั้งราคาเท่าตลาดนัดเลย บางครั้งเราไปเดินสำเพ็ง เห็นของที่เขาขายราคาไม่แพง มีให้เลือกเยอะแยะ ก็เข้าใจในระดับนึงว่า คนที่ไม่เห็นค่าของงาน handmade ก็คิดว่าหาซื้อเอาตามตลาดดีกว่า มีขายเยอะแยะ หลากหลายแบบน่ารัก ๆ มีให้เลือกเยอะ แถมราคาก็ไม่แพง เขาเลยไม่สนใจของ hand made แต่ถ้าได้ฟรีละก้อ รับหมด 555 เพื่อนคนนึงมาบ่นกับเราว่าจะซื้อซองใส่มือถือเป็นกระเป๋าผ้าใบเล็ก ๆ เอาเศษผ้ามาเย็บทำขายตั้ง 100 กว่าบาท แพงเสียดายเงิน แล้วพูดกับเราว่า ถ้าเราเย็บของเรา ทำเผื่อมันด้วยอันนึงนะ เราก็เออออไปตามเรื่อง แต่จนป่านนี้ก็ไม่เคยทำให้มันเลย ฝันไปเหอะ หลายครั้งที่เราพบว่า มิตรภาพบนโลกไซเบอร์สวยงามกว่ามิตรภาพที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันซะอีก


ติดต่อทีมงาน ความคิดเห็นที่ 14 เห็นด้วยกับคุณ hoothoot นะคะ เราเองก็อยากทำขาย แต่ก็เข้าใจว่าหาตลาดยาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นค่างานฝีมือสักเท่าไหร่ คนที่เห็นค่างานฝีมือส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มคนที่ชอบทำงานฝีมือเช่นกัน ส่วนตัวเราก็มองว่ามันงานศิลปะ มีชิ้นเดียวในโลกเหมือนกัน ต่อให้ทำใหม่ ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม เคยมีอยู่ครั้งนึงเราทำผ้าพันคอ fingerknit ด้วยไหมปอมๆ พี่คนนึงเค้าชอบเลยบอกว่าทำให้เค้ามั่งสิ เค้าจ้างทำเลย แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดจะทำขายหรอก อารมณ์ชอบทำแจก(คนที่อยากแจก)มากกว่า เราก็บอกว่าเอาไหมมาเดี๋ยวทำให้ พี่เค้าควักตังค์ให้พันนึงเลย บอกว่าไปซื้อไหมมาให้ด้วย ไม่พอก็มาบอก โห.. เรางี้ซึ้งมากๆ นานๆจะเจอคนแบบนี้สักที สุดท้ายก็คิดแค่ค่าไหม ไม่ได้คิดค่าแรงเลย


งานฝีมือกับคนไทยส่วนใหญ่กลายเป็นของไกลตัวกันไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ค่ะ อาจจะด้วยสภาวะเศรษฐกิจ การเงินไม่คล่องพอ สมัยก่อนใครทำอะไรฝีมือดีๆเนี๊ยบๆ แพงเท่าไหร่คนก็ซื้อค่ะ สมัยรี้มันเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จะบอกว่ารสนิยมคนตกต่ำลงมาเพราะสภาวะเศรษฐกิจก็มีส่วนเยอะนะคะ ถ้าตั้งใจทำขายจริงๆจังๆ มันอยู่ที่ความตั้งใจ+ทุน(หมุนเวียนที่ค่อนข้างยาวมากๆ) การทำประชาสัมพันธ์ก็มีส่วน งานฝีมือขายได้เฉพาะกลุ่มนี่เรื่องจริงค่ะ คนที่มาดูของส่วนใหญ่จะมองว่า สวย แต่ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราตีแตกโจทย์นี้ได้ งานฝีมือที่ทั้งสวยและมีประโยชน์ใช้งานสูง ก็จะไม่ถูกตีค่าด้วยราคาเพราะคนซื้อมีความพึงพอใจในการใช้งานเป็นสำคัญอยู่ การออกแบบสินค้างานฝีมือ หรือ handmade นั้นต้องอาศัย design+function ถึงจะอยู่ได้ค่ะ ที่สำคัญถ้าตอบโจทย์ถูกตลาด ถูกกลุ่มเป้าหมาย ก็นับว่าเป็นงานที่ไปได้ไกลทีเดียวค่ะ สู้ๆนะคะ

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

แฮนด์เมดเพิ่มค้า ใบตองตึง

ผลิตภัณฑ์สินค้าแฮนด์เมด "ใบตองตึง" เพิ่มค่า กับผลงานสร้างสรรค์ของ นายปรเมศร์ สายอุปราช ที่นำใบตองตึงมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในชิ้นงานที่จำหน่ายถือเป็นงานแฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งเจ้าตัวยังยืนยันในเมืองไทยของเขาเป็น “Only One Product” โดยใช้บ้านใน จ.ลำปางเป็นแหล่งผลิตสินค้าแฮนด์เมดนี้ นายปรเมศร์เล่าว่า ก่อนจะมาทำงานนี้ เคยลองนำสินค้าของชาวบ้านมาขายในเว็บไซต์เพื่อดูว่าสินค้าตัวไหนที่ได้รับความสนใจ ปรากฎว่าลูกค้าคนไทยที่เข้ามาดูส่วนใหญ่สนใจงานฝีมือ เลยต้องหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งใช้วิธีดูวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดคือใบไม้ ประกอบกับ“ใบตองตึง” เป็นใบไม้ที่คนทางเหนือใช้ห่อข้าวเหนียว ใช้มุงหลังคา จึงนำมาทำเป็นงานใบไม้ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “มิสเตอร์ลีฟ”

เจ้าของชิ้นงานได้เล่าที่มาให้ฟังว่า เริ่มทำมาตั้งปี 2547 ตอนแรกเรียนจากอาจารย์ญี่ปุ่นเป็นงานเกี่ยวกับเส้นใยพืชธรรมชาติ จากนั้นนำมาต่อยอดเอง โดยใช้ใบไม้ล้วน ๆ พร้อมกับปรับใช้กับเซรามิค พลาสติก กระดาษหรือไม้ก็ได้ตัวอย่าง(ที่เห็นภาพ)กล่องไม้นี้เป็นไม้ที่ทำจาก MDF หลังจากนั้นเราก็นำใบไม้มาอัดลงบนฝากล่องอีกครั้งหนึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าจะต้องการกล่องสีอะไร ต้องการใบไม้ที่อยู่บนฝากล่องสีอะไร บางครั้งต้องสกรีนเป็นกิ่งไม้ ซึ่งลูกค้าต่างประเทศสั่งมา เพราะลูกค้าที่ทำสปาต้องการสินค้าที่ดูเป็นธรรมชาติ” การนำใบตองตึงมาใช้ประโยชน์แบบนี้ได้ ต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง ในช่วงแรกที่ทำก็เจอปัญหาต่างๆ อาทิ ใบไม้กรอบไปบ้างแห้งไปบ้าง ใช้ไม่ได้ สำหรับการเก็บใบตองตึงจะใช้วิธีสต๊อกเก็บไว้เพราะใบตองตึงเป็นไม้ผลัดใบ จะออกช่วงเดือนห้าถึงเดือนแปด ฟอร์มใบจะแข็งแรงและสมบูรณ์มาก โดยจะซื้อใบสีเขียวแล้นำมาตากแห้ง ก่อนผ่านกระบวนการต่างๆ ที่สำคัญใบไม้เหล่านั้นต้องอบน้ำยากันแมลงด้วยทำไมต้องใช้ใบตองตึง …


 “ความจริงจะใช้ใบไม้อย่างอื่นก็ได้แต่ที่ใช้ใบตองตึงเพราะมีเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของวิถีชีวิตของคนทางเหนือที่มีความผูกพันกับใบไม้ชนิดนี้ โดยเอามาห่อข้าวเหนียว หรือที่เรียกว่าเห็นเรื่องราวของใบไม้ หรืออย่างเราไปเมืองนอกเห็นใบเมเปิลเราก็อยากเอามาฝากเพื่อนฝูงทางเมืองไทย”สำหรับสินค้าแฮนด์เมด ใช้วัสดุธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ“มิสเตอร์ลีฟ” มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สินค้ามีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นโคมไฟใบไม้ เป็นนาฬิกาใบไม้ หรือwall leaf สำหรับตกแต่งผนังบ้าน ราคาสูงสุดอยู่ที่ 4,500 บาท ต่ำสุด 650 บาท พวกสารพัดกล่องก็ขายดีเช่นกันเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยราคากล่องต่ำสุดอยู่ที่ 120 บาท สูงสุด 350 บาท โดยปรเมศร์จะมีคนเขียนรูปให้ตามออเดอร์สนใจผลงานใบตองตึงยี่ห้อ“มิสเตอร์ลีฟ” ติดต่อคุณปรเมศร์ได้ที่ 086-1823589, 086-6704349 หรือดูที่ www.leavespaper.com ต้นตองตึง เป็นไม้ป่ายืนต้นใบลักษณะคล้ายต้นสักหรือต้นชาดในภาคอีสาน แต่ใบตองตึงไม่มีขน ใบที่ยังไม่แก่ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน นิยมเก็บมาห่อของเช่น ห่อข้าวห่อ ห่อของจิปาถะคล้าย ๆ ใบตอง หรือใบบัวในภาคกลาง ใบตองตึงเมื่อแก่และหล่นจากต้นนำมาทำเป็นตับมุงหลังคากระท่อมคล้ายจากหรือแฝก มีความทนทานได้ 4-5 ปี คุณสมบัติกระท่อมที่มุงด้วยใบตองตึง อยู่สบายไม่ร้อน ที่บ้านรักไทยชาวไทยเชื้อสายจีนยูนาน ทำบ้านด้วยดินเหนียวมุงหลังคาด้วยใบตองตึงอยู่สบายกลมกลืนกับธรรมชาติเมื่อผุพังก็ย่อยสลายไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ใบตองตึงที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ จะเก็บกันในช่วงหน้าหนาวตอนเช้า ๆ เพราะยังไม่กรอบ จากนั้นนำมาตัดก้านใบแช่น้ำแล้วเรียงทับเก็บไว้ นำไม้ไผ่จักเป็นตอกหนาประมาณ 3-4 มม. ยาวประมาณ 2-3 ม. ใช้เป็นก้าน จัดตอกเป็นแผ่น หนาประมาณ 1.5-2 มม. ยาว 35 ซม. เพื่อใช้ในการเย็บเข้ากับก้านที่เตรียมไว้เรียกว่า “ตับพลวง” จากนั้นนำมามุงหลังคาและกั้นเป็นฝาบ้านเพื่ออยู่อาศัย.

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประสบการณ์ก่อนมาขาย สินค้าแฮนเมด


Handmade

กว่าจะตัดสินใจ ขายของแฮนเมด ได้ เราลองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า แบบไม่สต็อกสินค้าดูแล้ว หลักๆ ก็คือหาออเดอร์ให้ร้าน และเมื่อมีออเดอร์เข้ามา เราก็แจ้งร้าน ให้ร้านเขาส่งสินค้าให้ในนามร้านของเรา เราเคยอ่านกระทู้หลายคนที่ แชร์ประสบการณ์ตัวแทนแบบนี้ บางคนขายได้ดีนะคะ แต่เราขายแล้ว ไม่เห็นจะขายดีเหมือนคนอื่นเลย ยิ่งสินค้าพวกนี้ ไม่ได้อยู่กับเรา จะหยิบจับอะไรก็ไม่ได้เอง ไม่ค่อยสะดวก ก็เลยไม่มั่นใจ พอมีออเดอร์มาบ้าง แต่พอแจ้งร้ายไป ไหนจะรอว่าร้านนั้น กว่าจะรอให้ร้านที่เราสั่ง ตอบกลับว่ามีของในสต๊อกแถมส่งอีก  ลูกค้าของเราหนีไปซื้อร้านอื่นแล้วหละค่ะ หนีไปเลยจริงๆ นะ อันนี้คอนเฟิร์มได้เลย เพราะนี่คือธุรกิจ เสื้อผ้าแฟชั่น ส่วนอีกอันนึงที่เราได้ทดลองขายก่อนจะทำสินค้าแฮนเมด งานฝีมือ เย็บปักถักร้อยขาย เราก็ลองขาย อาหารเสริม ลองแบบไม่สต็อกสินค้าเหมือนกัน แต่ต้องเสียเงิน ค่าสมัคร คำนวนดู เหมือนจะคุ้มมากนะคะ กำไรงามมาก (ถ้ามันขายได้นะ) สรุปแล้วก็ลองโฆษณาในเพจดู ไม่มีออเดอร์เลย แถมคนไลค์น้อยด้วย เสียเงินไปพอสมควรเลยค่ะ เสียค่าสมัครฟรีอีก เพราะต้องรักษายอดให้ได้ เดือนละ 5,000 บาท มันอาจจะเป็นการโปรโมทของเราที่ไม่ดีด้วยมั๊ง อันนี้เราก็พอเข้าใจจุดอ่อนตัวเอง เพราะว่าเราลองผิดลองถูก มาได้ซักระยะแล้ว


ตอนนี้เราพยายาม เปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าขายของที่เอากำไรน้อยๆ แต่ขอให้มีคนมาซื้อของเราเรื่อยๆ ก็พอ แล้วเราก็ได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ เรามีความรู้ อยู่กับมันได้นานๆ อย่าง งานฝีมือ งานแฮนเมด งานเย็บผ้า แบบนี้  เราก็เลยว่าจะทำตุ๊กตาผ้า และของทำมือ ทำเองเป็นงานแฮนเมดอ่ะ เราก็รู้ว่าคนขายเยอะนะ ตลาดถือว่าใหญ่ และ คู่แข่งเยอะมาก แต่ก็อยากลองทำดู เพราะเราเคยไปอ่านหนังสือ เขาบอกว่าถ้าเราทำธุรกิจ ในสิ่งที่เราชอบ มีความรู้ จะสามารถทำได้ดี กว่าขายอะไรที่เราไม่รู้จัก ดังนั้น งานฝีมือ งานเย็บตุ๊กตาผ้า พวกนี้ เราว่าเราถนัดมาก จึงคิดว่าจะมาลองทำ เป็นอาชีพเสริม หารายได้คะ อีกอันนึงที่อยากทำคือ มีพี่กลุ่มงานฝีมือที่เรารู้จัก ได้เย็บตุ๊กตา และทำงานผ้า ถักทอ มาฝากขายเป็นชิ้นๆ คะ เราก็หัก % และขายให้ ก็พอได้รายได้พอสมควรคะ ยังไง ใครพอจะมีงานแฮนเมดอะไรแนะนำฝากแชร์ทีค่ะ  หรือจะขายอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับแฮนเมด ลงทุนไม่เยอะ และขายได้จริง
เราอยากหารายได้เสริมดู คะ

แฮนเมด

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กลยุทธ์สำหรับธุรกิจ Handmade

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม ผมได้ให้สัมภาษณ์รายการ SMART SME ทางสถานีวิทยุ สทร.106 วิทยุครอบครัวข่าว ในประเด็นกลยุทธ์สำหรับธุรกิจแฮนด์เมด หรือ งานทำมือ โดยมีคุณปุ๊ก สมาพร ชูกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ จึงขอนำถ้อยความมาถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ให้กับท่านผู้อ่าน ครับ  

ถาม อาจารย์คะ เวลาที่เราไปเดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดถนนคนเดิน ตามสถานที่ต่างๆ หรือในจังหวัดต่างๆ เราจะพบเห็นสินค้าทำมือ ที่ผ่านการคิดค้น ผ่านจินตนาการ ความฝันของเจ้าของสินค้า แล้วก็ผลิตด้วยความประณีตบรรจง ใส่ใจในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็น งานประดิษฐ์ ของกระจุ๊ก กระจิ๊ก ชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงงานหัตถกรรมชิ้นใหญ่ๆ เห็นแล้วก็รู้สึกชื่นชม มีความสุขไปกับผลงานเหล่านี้ นะคะ แต่อาจารย์คะ บางทีปุ๊กเลือกดูสินค้าแฮนด์เมดแต่ละชิ้น บางชิ้นก็ดูสวยกว่า บางชิ้นก็ดูสวยด้อยลง เป็นเพราะอะไรคะ  

ตอบ สินค้าแฮนด์เมด จะมีความแตกต่างจากสินค้าที่จำหน่ายทั่วไป ตรงที่ขั้นตอนการผลิต ซึ่งต้องทำการผลิตชิ้นงานต่างๆ ขึ้นมาด้วยมือ เขาจึงเรียกชื่อให้ดูมีเสน่ห์แบบไทยๆ ว่า “งานทำมือ” นะครับ งานเหล่านี้ไม่สามารถผลิตจากกรรมวิธีที่ใช้เครื่องจักรได้ ดังนั้น สินค้าแต่ละชิ้นถึงแม้จะมีรูปแบบ ดีไซน์เดียวกัน ก็อาจมีความแตกต่างในรายละเอียดของสินค้าแต่ละชิ้นที่ต่างกันไปได้ ซึ่งจะเป็นจุดสังเกตของลูกค้าในการเปรียบเทียบ เลือกซื้อ ชิ้นงานทำมือว่า ชิ้นไหนสวยถูกใจที่สุด ในราคาที่เท่ากัน คำถาม ก็คือ ทำไมคุณภาพชิ้นงานถึงมีความแตกต่างกันได้ คุณปุ๊กลองนึกดูครับ เราทำชิ้นงานแต่ละชิ้นเพียงคนเดียว ทำชิ้นงานตอนเช้าอารมณ์กำลังสบาย ชิ้นงานก็ออกมาสวย พอตกบ่ายอากาศร้อนบ้าง มีเรื่องมากวนใจบ้าง อารมณ์ไม่สบาย คุณภาพของชิ้นงานก็อาจจะด้อยลง งานแฮนด์เมดเป็นงานที่ต้องประดิษฐ์ออกมาจากความรู้สึกที่มีความสุขของคนทำนะครับ เหมือนผลงานของศิลปินที่ต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความสุขเสียก่อน จึงจะสร้างผลงานที่ดีได้

คุณปุ๊กลองนึกต่อไปว่า ถ้าเราจะทำงานแฮนด์เมดของเรา ให้เป็นธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานอดิเรกยามว่าง เจ้าของไอเดียจะนั่งทำงานเพียงลำพังคนเดียว วันหนึ่งก็คงจะมีความสามารถในการผลิตชิ้นงานได้เพียงไม่กี่ชิ้น ทำไปวางขายปรากฎว่า ตลาดตอบรับดี เริ่มมีสินค้าไม่พอขายแล้ว อยากทำเป็นธุรกิจ อยากผลิตสินค้าแฮนด์เมดให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ก็เริ่มทำกันเป็นธุรกิจครอบครัว หรือ ขยายกำลังการผลิตเป็นงานของวิสาหกิจชุมชน ไปจนถึงเป็นโรงงานที่มีพนักงานมาทำงานแฮนด์เมด อย่างเป็นเรื่องเป็นราว คราวนี้เจ้าของไอเดียไม่ได้ผลิตงานทำมือคนเดียวแล้วครับ แต่มีผู้ร่วมผลิตด้วยอีกหลายคน ถ้าบริหารจัดการขั้นตอนการผลิต และคุณภาพของชิ้นงานไม่ดี ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะพบเห็นข้อบกพร่อง หรือ ตำหนิบนชิ้นงานได้นะครับ



ถาม เวลาปุ๊กออกไปทำรายการแจ๋วพารวย ก็มีโอกาสพบเห็น ธุรกิจแฮนด์เมดจากฝีมือของคนรุ่นใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากถามอาจารย์ว่า ธุรกิจแฮนด์เมดมีแนวโน้มของธุรกิจเป็นอย่างไรคะ อาจมีคุณผู้ฟังที่กำลังสนใจอยากจะทำธุรกิจนี้ จะได้มีความรู้ประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้นค่ะ  

ตอบ ธุรกิจแฮนด์เมด เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญ ผมว่า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีโลกประสบการณ์ที่ทันสมัย กล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ มากกว่าผู้ประกอบการรุ่นเก่าเยอะครับ คุณปุ๊ก มีโอกาสได้เห็น ชิ้นงานแฮนด์เมดหลายชิ้น บางชิ้นถึงกับต้องอุทานหลุดปากว่า “เฮ้ย คิดได้งัย เจ๋ง สุดยอด” ไอเดียบรรเจิด กล้าคิด กล้าทำจริงๆ จนมีการลอกเลียนแบบวางขายในตลาดต่อมา อย่างเช่น งานเพ้นท์ งานตบแต่งบนปลอกโทรศัพท์มือถือ แรกๆ ออกมาใหม่ก็ขายกันในราคาแพง เดี๋ยวนี้กลายเป็นสินค้าราคาถูกไปซะแล้ว จากสภาพของตลาดสินค้าแฮนด์เมด ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถแบ่ง สินค้าแฮนด์เมด ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าสำหรับกลุ่มตลาดบน และ สินค้าสำหรับกลุ่มตลาดล่าง สินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร  

สินค้าสำหรับกลุ่มตลาดบน จะเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ มีความสวยงามเพื่อดึงดูดลูกค้า เป็นสินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยเน้นความประณีต ความละเอียดอ่อนในการผลิต และความคงทน รวมถึงอาจมีการนำวัสดุที่มีมูลค่าสูงมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ภาวะการแข่งขันของตลาดสินค้ากลุ่มบนจะมีความรุนแรงน้อยกว่า เพราะผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดได้ยาก เนื่องจากต้องมีแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะสูง และมีเงินลงทุนสำหรับการออกแบบใหม่ๆ เสมอ กลุ่มลูกค้าของตลาดระดับบน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความนิยมใช้สินค้าแฮนด์เมด และกลุ่มนักสะสม จากความโดดเด่นของสินค้ากลุ่มตลาดบน จะเป็นโอกาสในการกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้ารายเดิม และขยายฐานลูกค้ารายใหม่ จากกลุ่มของลูกค้าที่บอกต่อ และมีรสนิยมชื่นชอบงานแฮนด์เมด เหมือนๆ กัน  

อีกกลุ่มคือ สินค้ากลุ่มตลาดล่าง จะมีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงกว่าตลาดระดับบน เนื่องจากสินค้าในตลาดมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน มีการลอกเลียนแบบกันไปมา ผลิตชิ้นงานได้ง่าย ใช้เงินลงทุนน้อย วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตไม่ได้เน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสู่ตลาดได้ง่ายกว่าตลาดระดับบน กลุ่มลูกค้า เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อน้อย ซื้อเพราะชื่นชอบสินค้าบางชิ้นเป็นการเฉพาะ ไม่ได้มีรสนิยมที่ชอบการใช้สินค้าแฮนด์เมดเป็นประจำ หรือ ไม่ได้ซื้อเพื่อสะสม กลุ่มสินค้าแฮนด์เมดในตลาดระดับล่าง จึงเน้นการแข่งขันด้านราคา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรน้อย ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ในระยะยาว  

ถาม จากที่อาจารย์กล่าวมา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการในธุรกิจแฮนด์เมด ควรปรับกลยุทธ์ตำแหน่งของสินค้า หรือ Positioning ให้เป็นสินค้าแฮนด์เมดที่อยู่ในตลาดระดับบน แล้วสร้างจุดเด่นของสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มจุดขายของสินค้า ให้เป็นสินค้า Life Style ที่สามารถสะท้อนรสนิยมของผู้ใช้ ถูกต้องมั๊ยคะ อยากถามต่อไปว่า ปัจจัยสำคัญทางธุรกิจ ที่จะช่วยเสริมให้สินค้า หรือ ธุรกิจแฮนด์เมดมีความโดดเด่น ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญอย่างมาก มีอะไรบ้างคะ

ตอบ เพื่อที่จะอยู่รอด และเติบโตในธุรกิจแฮนด์เมดได้อย่างยั่งยืน ผมหมายถึง มีความสามารถในการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ ด้วยการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศในอนาคตได้ด้วย ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญคือ การออกแบบสินค้า เป็นประการสำคัญที่สุด นะครับ การออกแบบสินค้า ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้า การออกแบบต้องคำนึงถึงความสวยงาม และประโยชน์การใช้สอย ให้สอดคล้องกับ Life Style ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แต่ที่ลึกไปกว่านั้น ก็คือ เราต้องออกแบบสินค้าให้มีความแตกต่าง จากสินค้าแฮนด์เมดที่วางขายอยู่ทั่วไป ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เราเป็นสินค้าที่มีความแปลกตา ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ประการต่อมาก็คือ เราต้องออกแบบสินค้าให้ยากต่อการลอกเลียนแบบ ซึ่งจะเกิดได้จากขั้นตอนการผลิตที่มีความซับซ้อน ประณีต ละเอียดอ่อน ใช้ทักษะเฉพาะ ประการต่อมา การออกแบบให้เน้นความคงทนต่อการใช้งาน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ตอบสนอง Life style ของลูกค้าที่ต้องการใช้งานแฮนด์เมดเป็นประจำ ก็จะเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้สินค้า แฮนด์เมด เพิ่มมากยิ่งขึ้น การออกแบบโดยเลือกวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต ควรเลือกวัตถุดิบที่มีความคงทน เหมาะสมกับกรรมวิธีการผลิต หากต้องการใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายมาใช้เป็นส่วนประกอบของชิ้นงาน ควรเลือกวัตถุดิบที่สามารถผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน และช่วยเสริมให้รูปลักษณ์ของสินค้าที่ผลิตออกมา มีความสวยงาม หรือ อาจใช้วัสดุที่มีค่ามาประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น อัญมณี เงิน ทอง นาค เป็นต้น นอกจากการออกแบบเล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างตราสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าระลึกถึงลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น และคุณภาพของสินค้าได้โดยง่าย และช่วยให้ลูกค้าสามารถจดจำสินค้าได้ง่าย ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อในครั้งต่อไป  

ถาม อาจารย์คะ สมมุติว่า เรามีสินค้าแล้ว มีตราสินค้าแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักของลูกค้า รวมไปถึง จะทำอย่างไรให้เราสามารถขายสินค้าได้มากขึ้นคะ

 ตอบ จุดอ่อนสำคัญของผู้ประกอบการ SME ก็คือ การประชาสัมพันธ์ และการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ ในการจำหน่ายสินค้า เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเงินทุน ความรู้ทางด้านการตลาด บุคลากรในการดำเนินงาน และข้อมูลข่าวสารทางการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการบางรายที่ผลิตสินค้าแฮนด์เมดที่มีคุณภาพ แต่กลับไม่สามารถประกอบธุรกิจในตลาดได้ต่อไป ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การหาแนวทางในการทำตลาด และการพัฒนาช่องทางการจำหน่าย เพื่อที่จะให้สินค้า และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไปถึงกลุ่มลูกค้า โดยช่องทางการจำหน่ายสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่องทาง คือ
  1. ช่องทางการจำหน่ายตรง ผู้ประกอบการควรจะต้องมีหน้าร้าน หรือโชว์รูมแสดงสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าด้วยตนเอง เห็นความสวยงามและรายละเอียดความประณีตของสินค้า และการตกแต่งร้านค้า จะช่วยให้ลูกค้าได้เกิดจินตนาการในการนำไปใช้งานจริง การเลือกทำเลที่ตั้งของร้านค้า จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ควรตั้งอยู่ในย่านที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงในการขยายสาขา 
  2. ช่องทางการจำหน่ายผ่านคนกลาง เช่น ตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เหมาะกับธุรกิจที่สามารถผลิตชิ้นงานได้จำนวนมากพอที่จะกระจายสินค้าไปยังร้านค้าต่างๆ วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถกระจายสินค้าไปได้ไกลขึ้น ไม่ต้องมีภาระในการหาทำเลที่ตั้งร้านค้า แต่มีจุดอ่อนคือ กำไรต่อหน่วยลดลง เนื่องจากเราต้องให้ค่าวางจำหน่าย แก่ร้านค้าที่เป็นช่องทางจำหน่าย และต้องมีเงินทุนสำรอง ในระหว่างรอเรียกเก็บเงินจากเครดิตการค้า 
  3. ช่องทางการจำหน่ายผ่านงานแสดงสินค้า เช่น งานแสดงสินค้า Life Style และของตกแต่งบ้าน งานแสดงสินค้าสำหรับผู้ส่งออก เป็นการทำตลาดเชิงรุก เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพราะว่ามีลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เท่ากับได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีจุดอ่อน ก็คือ สามารถทำตลาดได้เพียงระยะสั้นตามช่วงระยะเวลาของการจัดงาน ดังนั้น เราอาจจะต้องออกงานแสดงสินค้าให้ถี่ขึ้น 
  4. ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายใหม่ที่มีศักยภาพในปัจจุบัน เช่น การขายผ่าน Website ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ข้อดี ก็คือ ต้นทุนในการตลาดต่ำ ลูกค้าสั่งซื้อได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง เราสามารถสร้างการรับรู้และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระยะไกล เช่น ต่างประเทศได้ แต่ ข้อเสียก็คือ ลูกค้าอาจมีทัศนคติในเชิงลบต่อการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ เช่นความกังวลว่าจะไม่ได้รับสินค้า หากมีการชำระเงินไปแล้ว สินค้าไม่ดีจริงเหมือนในรูปภาพที่โฆษณา และ ไม่ได้เห็นสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ จึงเหมาะที่จะใช้กับลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าอยู่แล้ว หรือ ลูกค้าประจำ ครับ 

บทความโดย : ดร.พงศ์ศรันย์ พลศรีเลิศ http://phongzahrun.wordpress.com