วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

'ศาลาครุ' ส่งเสริมแม่บ้าน ตั้งกลุ่มเย็บผ้าสร้างรายได้

นายอนันต์ รุ่งแสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองสามวัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้น อยู่ในสภาพไม่มั่นคงเท่าที่ควร เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ คนว่างงานมากขึ้น และปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้โรงงานเกิดภาวะขาดทุน ย้ายถิ่นฐานการผลิต เกิดการจ้างงานน้อยลง และมีการปรับเงินเดือนคนงานให้สูงขึ้น คนงานที่เงินเดือนสูงจึงถูกปรับออกจากงาน และไม่ได้รับการจ้างงาน ขาดรายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัว อันก่อให้เกิดทางด้านปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านความยากจน ด้านการศึกษาด้านสาธารณสุข และ ปัญหาอาชญากรรม ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสามวัง ถือว่าเป็นหน่วยงานท้องที่ที่มีการผูกผันกับประชาชนในพื้นที่ เมื่อยามประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งความช่วยเหลือนั้นต้องตรงต่อความต้องการของกลุ่มแม่บ้านที่ว่างงานและสังคม



นายอนันต์ กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้นตนจึงได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมจัดทำโครงส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านในหมู่ 5 จัดตั้งกลุ่มเย็บผ้า โดยได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี (พัฒน์ 27) สนับสนุนจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมพร้อมจัดวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ พร้อมทั้งฝึกฝนความเข้าใจและทักษะในการเย็บเสื้อผ้าอย่างถูกวิธี และยังเป็นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มส่งเสริมอาชีพในเขต ต.ศาลาครุ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำเอาผ้ามาเย็บเป็นเสื้อผ้า แล้วนำเศษผ้าไปแปรรูปเป็นตุ๊กตาหรือพรมเช็ดเท้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงยังเป็นการนำทรัพยากรในชุมชนมาประดิษฐ์เพื่อก่อให้เกิดรายได้ตลอดจนผลิตทางอุตสาหกรรม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนฟื้นฟูกลุ่มอาชีพแม่บ้านเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองครอบครัวและสังคมตลอดไป

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แฮนด์เมดตุ๊กตาถักไหมพรม บ้านถักทอ

ชุมชนเข้มแข็ง ‘บ้านถักทอ’ เปลี่ยนงานถักไหมพรมธรรมดาๆ มาเป็นตุ๊กตาถักไหมพรมและสินค้าถักไหมพรมแฮนด์เมดอื่นๆ ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างน่าชื่นใจ

“เริ่มแรกเราถักเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ สำหรับห้อยพวงกุญแจ จากนั้นจึงได้เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่่งตุ๊กตาอยู่ในขนาดที่สามารถถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าได้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นเด็กหญิงไว้ผมหน้าม้า ขณะที่คาแรกเตอร์ตรงดวงตา ที่จะมีตาหลับ ตายิ้ม ตาโต และตาขอบดำ” สายอรุณ กล่าว

บ้านถักทอเปิดตัวครั้งแรกที่ ถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ โดยเวลานั้นงานตุ๊กตาถักยังมีไม่มากนัก ฉะนั้นสินค้าในร้านจึงมีทั้งตุ๊กตาถัก หมวก เข็มขัด กระเป๋าถัก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของคนในหมู่บ้านเดียวกันฝากมาขาย แต่ทว่าผลตอบรับปรากฏว่า ตุ๊กตากลับได้รับความสนใจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติค่อนข้างมาก…ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้หันมาทุ่มเทถักตุ๊กตากันอย่างจริงจังนับแต่นั้นเป็นต้นมา



ความโดดเด่นของตุ๊กตาบ้านถักทอ คือ ตุ๊กตาแต่ละตัวสามารถถอด ‘เปลี่ยน’ เสื้อผ้าได้ นอกจากนี้ยังเลือกแอคเซสเซอรี่ เช่น หมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ รองเท้า (สำหรับตุ๊กตา) ได้หลากหลาย โดยแต่ละแบบ แต่ละสไตล์ทันสมัยราวกับว่าหลุดมาจากแคตวอล์กก็ไม่ปาน

สายอรุณ เล่าว่า “ตุ๊กตาแฮนด์เมด เปลี่ยนเสื้อผ้า/แอคเซสเซอรี่ได้ ไอเดียนี้มาจากความรู้สึกที่ว่าอยากให้คนที่เล่นตุ๊กตาเขารู้สึกสัมผัสได้ เวลาที่เขาเลือกเสื้อผ้ามาแต่งตัวให้กับตุ๊กตาเด็กชาย-เด็กหญิง และอีกส่วนหนึ่งที่เราออกแบบเสื้อมาเยอะขนาดนี้เป็นเพราะว่าช่วงที่ทำแรกๆ ประมาณปี 2548 พวกเสื้อผ้าอะไรเหล่านี้ยังมีให้เลือกไม่มากนัก กระทั่งในปี 2550 ที่งานนิมมานซอย 1 จังหวะนี้เองที่เริ่มมีคนรู้จักตุ๊กตาบ้านถักทอมากขึ้น ระหว่างนี้เองที่กระแสของตุ๊กตาบลายธ์ก็กำลังได้รับความนิยม ฉะนั้นจึงมักมีลูกค้ามาถามบ่อยๆ ว่า ตุ๊กตาของเราทำไมมีเสื้อผ้าเปลี่ยนน้อยจัง…จึงเป็นจุดให้เราเริ่มปรับรูปแบบเสื้อผ้าตุ๊กตาให้ทันสมัย และมีให้เลือกหลากหลายยิ่งขึ้นมาถึงทุกวันนี้”

นอกจากความหลากหลายทั้ง เสื้อผ้า/แอคเซสเซอรี่ เบื้องหลังของแฟชั่นเหล่านี้ สายอรุณ เล่าว่า ชาวบ้านที่ถักชุดตุ๊กตาเหล่านี้ แต่ละคนไม่ได้มีพื้นฐาน หรือไปเรียนด้านแฟชั่นจากไหน แต่อาศัยดูเทรนด์เสื้อผ้าจากดาราในละครโทรทัศน์บ้าง ตามหนังโฆษณาบ้าง จากนั้นค่อยนำมาแอพพลายเป็นเสื้อผ้าตุ๊กตาถักขึ้นเองสดๆ ฉะนั้นเสื้อผ้าสุดชิคเหล่านี้จึงมาจากฝีมือคนทำล้วนๆ และหาแพทเทิร์นที่ไหนไม่ได้แน่นอน นอกจากนี้ความช่างคิดยังทยอยออกมาไม่หยุดหย่อน เมื่อเสื้อผ้าบางคอลเลกชั่นมีการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษผ้ายีนส์ชิ้นเล็กๆ มาแอพพลายเป็นกางเกง แต่งด้วยไหมพรมเก๋ๆ หรือเศษผ้าจากงานปักฝีมือชาวเขา ก็เอามามิกซ์กับงานโครเชต์ จนก่อเกิดเป็นดีไซน์ใหม่ที่เก๋ไม่แพ้เสื้อผ้าคนเลยทีเดียว

จุดเด่นของ แฮนด์เมดตุ๊กตาถักไหมพรม บ้านถักทอ

จุดเด่นของบ้านถักทออยู่ที่ความหลากหลาย โดยเริ่มจากจำนวนสมาชิกมีประมาณ 50 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความถนัดที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนถนัดถักโครเชต์ ขณะที่บางคนถนัดถักนิตติ้ง เมื่อดึงความสามารถของแต่ละคนมารวมกันจึงทำให้ผลงานมีความหลากหลาย มีเสน่ห์ยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้รูปแบบของตุ๊กตามีทั้งหมด 3 คาแรกเตอร์ (ทุกแบบมีทั้งเด็กชาย-เด็กหญิง) คือ 1. น้องถัก (มีลักษณะตายิ้ม/ตาหลับ) 2. น้องทอ (มีลักษณะตาโต) และ 3. น้องพอเพียง (มีลักษณะตาขอบดำ) สนนราคาเริ่มที่ 380-1,200 บาท/ตัว (เลือกเสื้อผ้าได้ 1 ชุด)

ลูกค้าแฮนด์เมดตุ๊กตาถักไหมพรมบ้านถักทอส่วนใหญ่ของบ้านถักทอเป็นชาวต่างชาติ ปัจจุบันมีออเดอร์ต้องถักตุ๊กตาไม่ต่ำกว่า 300 ตัว/เดือน (ไม่รวมจำนวน เสื้อผ้า แอคเซสเซอรี่ต่างๆ) มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 บาท/เดือน

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เย็บตุ๊กตา สร้างรายได้

ถ้าพูดถึงของขวัญที่ได้รับความนิยม หนึ่งในของที่คนส่วนใหญ่มักจะซื้อเพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคนที่รักในงานเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ วาเลนไทน์ รับปริญญา วันเด็ก ฯลฯ ก็จะรวมถึง“ตุ๊กตา” ที่มิใช่แค่ของเล่น เด็กเท่านั้น ซึ่ง “ตุ๊กตาผ้า” ก็เป็นหนึ่งในตุ๊กตายอดฮิต และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ…

สุชญา สุขหงษ์ ประธานกลุ่มหัตถกรรมทำด้วยมือผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว ต.วังน้ำเขียว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นผู้ที่ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาทุกชนิด ภายใต้ชื่อ “PLOY TOYS” ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตตุ๊กตามานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนที่จะมายึดอาชีพทำตุ๊กตานั้น สุชญาเล่าว่า เคยทำงานบริษัทผลิตตุ๊กตาส่งออก อยู่ฝ่ายการตลาด แต่ในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทที่ทำอยู่ก็เริ่มให้คนงานออก และตนก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น หลังจากตกงานก็เริ่มหาช่องทางอาชีพทำ และก็ตกลงกับสามีว่าจะมาทำ “ตุ๊กตา” ขาย

“จากที่เคยอยู่ฝ่ายการตลาดของบริษัทเก่า ทำให้เห็นว่ายอดขายตุ๊กตามียอดจำหน่ายที่สูง บวกกับเป็นคนที่ชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้เป็นเรื่องง่ายในการที่จะตัดสินใจทำตุ๊กตาผ้าขาย”

การทำตุ๊กตาทำด้วยมืออาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ไม่ยากถ้ามีความพยายาม พอเริ่มที่จะทำจริงจังก็เริ่มศึกษาวิธีการทำด้วยตัวเอง โดยหาซื้อตุ๊กตาผ้ามาแกะแยกชิ้นส่วนออกจนหมดทุกชิ้น เพื่อที่จะนำมาเป็นตัวอย่างในการทำ แรก ๆ ตุ๊กตาที่ทำออกมาจะนำไปขายตามงานวัดและตลาดนัด



ตุ๊กตาที่ผลิตขึ้นก็พอขายได้ แต่ยังไม่ค่อยมีมาตรฐาน อีกทั้งการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี สุชญาจึงเข้าไปอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถด้านบริหารจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

หลังจากที่ได้เข้าอบรมก็สามารถวางแผนในการจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น รู้จักการจัดทำบัญชี ได้เรียนรู้เทคนิคด้านการตลาด เทคนิคการขาย จากนั้นก็เริ่มมาพัฒนากลุ่มผลิตตุ๊กตาให้มีมาตรฐานมากขึ้น จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำด้วยมือเริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า ผลิตส่งให้กับบริษัทลิขสิทธิ์ถึง 70% และทางกลุ่มผลิตจำหน่ายเอง 30%

“ธุรกิจผลิตตุ๊กตาผ้า สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องเป็นที่ถูกใจลูกค้าจึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบของตุ๊กตาจะต้องมีความโดดเด่น ที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจไปรอดก็จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพสินค้า ตรงต่อเวลา และความซื่อสัตย์” สุชญากล่าว

ในการผลิต “ตุ๊กตาผ้า” ขาย วัสดุอุปกรณ์ในการทำที่สำคัญ ๆ ก็มีจักรเย็บผ้า, ผ้าสำหรับทำตุ๊กตาโดยเฉพาะ, ใยสำหรับยัดในตัวตุ๊กตา… แหล่งวัตถุดิบที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สามารถไปหาซื้อได้อยู่ที่ย่านบางบอน…

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบตุ๊กตาทำด้วยมือ หรือหาต้นแบบตุ๊กตาที่ต้องการจะทำ หลังจากที่ได้แบบที่ต้องการก็ทำแพตเทิร์น ซึ่งตุ๊กตา 1 ตัว อาจมีแพตเทิร์น 25-40 ชิ้น จากนั้นก็นำแพตเทิร์นไปวางทาบบนผ้า วาดตามรอยจากนั้นก็ตัดตามรอยเส้น ซึ่งวิธีนี้เป็น วิธีที่ง่าย แต่งานอาจจะช้าหน่อย

ในส่วนของสุชญาจะใช้วิธีการนำแพตเทิร์นที่ได้ไปวาดลงบนแผ่นกระเบื้องกันความร้อน จากนั้นก็จะตัดตามแบบ ใช้เส้นลวดกันความร้อนชนิดแบนติดตามขอบกระเบื้องกันความร้อนที่ตัดตามแพตเทิร์น ล็อกติดเข้าด้วยกันโดยใช้ลวดกันความร้อนเส้นเล็กเป็นตัวรัด เชื่อมต่อสายไฟที่จะต้องไปเสียบเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดัน สุดท้ายต่อด้ามจับด้วยไม้ วิธีการใช้ก็แค่เสียบปลั๊กไฟเข้ากับหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้า รอให้ลวดเกิดความร้อน จากนั้นก็ทำการปั๊มลงบนผ้า

วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็วในการตัดผ้า แต่ก็ต้องใช้ทุนสูงหน่อย โดยหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท… เมื่อได้ชิ้นส่วนตุ๊กตาทุกชิ้นครบ ก็ทำการเย็บแต่ละชิ้นให้เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คือการยัดใย ก่อนยัดใยก็นำชิ้นส่วนที่แยกเย็บมาเย็บประกอบกันให้เรียบร้อย แล้วทำการยัดใย ยัดเสร็จก็ทำการตกแต่งภายนอกให้เรียบร้อย

การยัดใยใส่ในตัวตุ๊กตานั้นสามารถยัดด้วยมือได้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเงินทุนที่จะซื้อเครื่องฉีดใย ส่วนเครื่องฉีดใยนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งคุณภาพตุ๊กตาที่ยัดใยด้วยเครื่องก็จะนิ่งกว่าการใช้มือ

จากนั้นก็ทำการเย็บปิดรูของตัวตุ๊กตาทำด้วยมือที่เป็นจุดยัดใย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย ตุ๊กตาของกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว มีราคาขายตั้งแต่ 30-1,000 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาจำหน่าย